ประวัติหมู่บ้านต่างๆในตำบลบ้านยวด อำเภอสร้างคอม

ตำบลบ้านยวด
บ้านยวดแต่ก่อนเป็น หมู่ที่ ๘ ของตำบลสร้างคอม อำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี บ้านยวดก่อนจะได้ตั้งชื่อของบ้านนั้น
คือมีหนองน้ำอันหนึ่งขื่อว่า " กุดยวด" ที่เป็นอันศักดิ์สิทธิ์ ในสมัยนั้นมีสิมอยู่กลางหนองน้ำ จึงได้ตั้งชื่อของหมู่บ้านว่า "บ้านยวด " สมัยนั้นเขาเรียกผู้ใหญ่บ้านกันว่า " ตาแสง" กำนันเรียกกันว่า " ขุนหมื่น" สมัยนั้นมีขุนหมื่นประสิทธิ์ เป็นผู้ใหญ่บ้าน
ในสมัยต่อมา
นายคำใส เหล่าที กับ นายคำพัน โพนพุฒ จึงเห็นสมควร ขอแยกตำบลออกจากตำบลสร้างคอม มาตั้งบ้านยวดเป็นตำบล
ขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๑ สมัยนั้นผู้เป็นกำนันในตำบลบ้านยวด คือ นายจันมี รัตนะมงคล เป็นกำนันคนแรก ต่อมานายคำพัน โพนพุฒ เห็นสมควรว่าจะขอแยกหมู่บ้านออกเป็น ๒ หมู่ จึงได้แยกออกจากกันเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๓

บ้านนามงคล
บ้านนามงคล ตั้งขั้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๗ ลักษณะของหมู่บ้านแต่ก่อนจะเป็นลักษณะป่าดงดิบ ทางทิศเหนือเป็นพื้นที่ลุ่มซึ่งชาวบ้านจะทำนา ทางทิศตะวันออก ทิศใต้ ทิศตะวันตก จะเป็นป่าไม้ และมีสัตว์ป่าจำพวก กวาง เก้ง และละมั่ง โดยเฉพาะละมั่งมีจำนวนมากชาวบ้านจึงตั้งชื่อบ้านว่า “ บ้านนามั่ง “ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๐ ได้แยกหมู่บ้านออกเป็น ๒ หมู่บ้านคือหมู่ที่ ๓ เป็น “ บ้านนามงคล ” และหมู่ที่ ๔ เป็น “ บ้านนามั่ง"

บ้านนามั่ง
บ้านนามั่งจัดตั้งขึ้นเมื่อ ปี ๒๔๔๔ ซึ่งมีราษฎรได้อพยพจากบ้านเหล่าซึ่งนำทีมโดย พ่อตู้กอก เป็นผู้นำชาวบ้านประมาณ
๑๐ ครัวเรือน ซึ่งสถานที่ตั้งของหมู่บ้านแต่ก่อนเป็นป่าทึบ และมีสัตว์ป่าเป็นจำนวนมากอาศัยอยู่ โดยส่วนมากจะเป็นพวกละมั่ง
ลงมาหากินตามทุ่งนาของ ชาวบ้าน และอาศัยกินน้ำในลำห้วยคำซึ่งเป็นลำน้ำที่ชาวบ้านได้อาศัย ดื่มกิน สร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน ซึ่งละมั่งจะลงมาหากินเป็นหมู่ ๆ ละประมาณ ๓๐ - ๔๐ ตัว เป็นสัตว์สี่เท้า แต่ตัวจะเล็กเหมือนวัว ดังนั้นชาวบ้านจึงได้ตั้งชื่อของหมู่บ้านตามชื่อของ “ ละมั่ง “ จากแต่เดิมชาวบ้านได้อาศัยทำนาตามลำห้วยเพราะอาศัยน้ำจากกลำห้วยคำ เป็นที่ทำนา ทำสวน ดังนั้น
บ้านนามั่ง จึงเป็นชื่อเดิมที่ผู้เฒ่าผู้แก่ได้ตั้งไว้

บ้านชาด
บ้านชาดตั้งหมู่บ้านเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๔ ประมาณ ๑๒๒ ปีผ่านมาแล้ว เมื่อก่อนชื่อบ้านเขียนเป็นตัวคล้ายคำว่าชาติไทย
( บ้านชาติ ) แต่เมื่อปีประมาณพ.ศ.๒๕๐๘ - ๒๕๐๙ จึงเปลี่ยนชาติเพื่อให้สะกดถูกต้องตามภาษาไทย ก่อนจะมาเป็นหมู่บ้านชาด
มีประวัติเล่าว่าเมื่อก่อนตั้งหมู่บ้านอยู่ที่บ้านเลื่อมและย้ายมาอยู่บ้านเก่าดง และมาอยู่บ้านเหนือ อยู่ที่หมู่บ้านดังกล่าวมีผู้คนล้มตาย
ด้วยโรคห่าจำนวนมากจึงอพยพมาเรื่อยๆ จนมาอยู่จุดกึ่งกลางและเปลี่ยนชื่อว่าเป็นหมู่บ้านชาติ ซึ่งแปลว่า ชาติสยาม เพื่อให้ชนะโรคภัยต่าง ๆ และอยู่มาจนเท่าทุกวันนี้ บ้านชาดมีภูมิประเทศคล้ายกับจังหวัดหนองคายเพราะมีห้วยบ้านอยู่ทางทิศเหนือติดกับหมู่บ้าน
มีถนนเส้นหลักอยู่ ๒ เส้น และมีซอยตัดขวางคล้ายจังหวัดหนองคาย

ที่มา สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอุดรธาีนี