ส่งน้ำ สร้างรอยยิ้มผ่านโครงการท่อส่งน้ำเพื่อการเกษตร


อ.สร้างคอม จ.อุดรธานี - “คำว่า ‘สร้าง’ ภาษาอีสานแปลว่า บ่อน้ำ ‘คอม’ เป็นชื่อของต้นคอม คือเมื่อก่อนตอนที่ชุมชนยังเล็ก ยังเป็นหมู่บ้าน มีบ่อน้ำของชุมชนที่มีต้นคอมอยู่ใกล้ๆ ชาวบ้านจะใช้น้ำจากบ่อนี้ร่วมกัน” นางสาวมัคนา โพธิ์ศรีพรม เจ้าหน้าที่ฝ่ายเศรษฐกิจและรายได้ โครงการพัฒนาชุมชนเป็นพื้นที่แบบพึ่งตนเองและยั่งยืนในพื้นที่ อ.สร้างคอม จ.อุดรธานี มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย อธิบายที่มาของชื่อ “สร้างคอม”

จากที่มาของชื่อและสภาพภูมิประเทศที่มีแหล่งน้ำธรรมชาติอยู่ 3 แหล่ง คือ อ่างน้ำพาน ลำห้วยหลวง และอ่างน้ำวังช้าง รวมถึงคำขวัญประจำอำเภอที่ว่า “ลือเลื่องแหล่งปลาชุม” ต่างแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งน้ำ

แต่ทำไมเกษตรกรชาวสร้างคอมจำนวนมากจึงประสบกับปัญหาความแห้งแล้ง

เป็นเวลาหลายชั่วอายุคนที่เกษตรกรในอำเภอสร้างคอมแก้ปัญหาความแห้งแล้งด้วยการทำเกษตรตามฤดูกาลเฉกเช่นเกษตรกรชาวอีสานส่วนใหญ่ คือจะทำการเพาะปลูกปีละครั้ง หากว่าปีไหนฝนฟ้าไม่เป็นใจ ปีนั้นก็เป็นเวลาที่ยากลำบากของเกษตรกร

ในปี พ.ศ. 2540 มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทยได้เข้าไปเริ่มดำเนินโครงการพัฒนาชุมชนเป็นพื้นที่แบบพึ่งตนเองและยั่งยืนในพื้นที่ อ.สร้างคอม และในปี พ.ศ. 2543 เจ้าหน้าที่ศุภนิมิตจากประเทศออสเตรเลียได้ไปเยี่ยมพื้นที่โครงการ

“เจ้าหน้าที่ชาวออสเตรเลียมาดูพื้นที่ เห็นสภาพพื้นที่ไร่นาไม่ได้ทำการเพาะปลูก ก็ถามว่าทำไมปล่อยให้พื้นที่รกร้างว่างเปล่า เจ้าหน้าที่ศุภนิมิตประเทศไทยบอกว่าไม่มีน้ำ เจ้าหน้าที่ออสเตรเลียก็บอกว่า ถ้าผู้ปกครองเด็กซึ่งเป็นเกษตรกรไม่สามารถทำการเกษตร ครอบครัวก็ขาดรายได้ แต่ถ้าเราช่วยให้เขาสามารถทำการเกษตรได้ เขาจะมีรายได้สามารถดูแลเด็กซึ่งเป็นลูกเขา” นายน้ำพี้ โพนพุฒ ปลัด อบต.นาสะอาด ท้าวความเหตุการณ์ในวันนั้นให้ฟัง

การจุดประกายของเจ้าหน้าที่ศุภนิมิตออสเตรเลียทำให้ อบต.นาสะอาดและโครงการฯ สร้างคอมปรึกษากันเพื่อหาหนทางพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรในตำบลนาสะอาด โดยเริ่มจากการสำรวจพื้นที่และพบว่าอ่างน้ำพานเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่มีพื้นที่รับน้ำได้ถึง 6,000 ไร่ มีน้ำตลอดปีประมาณ 20 ล้านลูกบาศก์เซนติเมตร แต่เกษตรกรไม่สามารถนำน้ำขึ้นมาใช้ได้เพราะขาดการจัดการทรัพยากรน้ำที่เหมาะสม เนื่องจากที่ตั้งของอ่างน้ำพานเป็นที่ลุ่มมีความต่างระดับกับพื้นที่ทำการเกษตรอยู่ถึง 10 เมตร ทั้ง อบต.นาสะอาดและโครงการฯ สร้างคอมจึงมาช่วยกันขบคิดว่าจะนำน้ำจากอ่างน้ำพานไปยังพื้นที่การเกษตรได้อย่างไร

โครงการท่อส่งน้ำเพื่อการเกษตรเริ่มเป็นรูปร่าง

“พอดีว่า 1,800 เมตรจากแหล่งน้ำมีพื้นที่สาธารณะอยู่ที่สูงสามารถสูบน้ำขึ้นไปทำเป็นบ่อพักน้ำ” นายน้ำพี้ ตอบโจทย์

เมื่อมีคำตอบ อบต.นาสะอาดและโครงการฯ สร้างคอมก็ได้ร่วมกันสานต่อในส่วนของการออกแบบรายละเอียดของโครงการและการแบ่งงาน

“ศุภนิมิตฯ สร้างโรงสูบน้ำ เดินท่อสูบน้ำจากอ่างน้ำพานมายังบ่อพัก และสร้างบ่อพัก ใช้งบทั้งหมด 5 ล้านกว่าบาท” นางสาวมัคนา พูด

ส่วน อบต.นาสะอาด รับผิดชอบการออกแบบ การขยายเขตไฟฟ้า การวางท่อส่งน้ำจากบ่อพักน้ำไปยังพื้นที่การเกษตรในลักษณะ 4 ทิศโดยรอบบ่อพักน้ำ และจัดตั้งงบสำหรับจ้างคนดูแลระบบอย่างต่อเนื่อง

ตั้งแต่การออกแบบจนถึงการก่อสร้างแล้วเสร็จ

แม้โครงการท่อส่งน้ำเพื่อการเกษตรนี้จะมีผู้รับผิดชอบหลักในการดำเนินงานเพียง 2 หน่วยงาน แต่เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น จึงมีการนำแบบไปให้หลายฝ่ายพิจารณา

“ครั้งแรกช่าง อบต. ออกแบบ เสร็จแล้วเราส่งไปให้ผู้ใหญ่ของมูลนิธิฯ ดู ทางผู้ใหญ่ของมูลนิธิฯ ดูแล้วไม่แน่ใจ บอกให้เสนอผู้ว่าราชการจังหวัดก่อน เราไปเสนอผู้ว่าฯ ผู้ว่าฯ ก็นัดหลายหน่วยงานให้มาร่วมพิจารณา มีทั้งที่ดินจังหวัด สิ่งแวดล้อมจังหวัด สำนักงานท้องถิ่นจังหวัด ชลประทานจังหวัด ไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ตำบลข้างเคียงที่ใช้แหล่งน้ำร่วมกัน คุยกันคราวนั้นสรุปว่าให้ทบทวนแบบใหม่” นายน้ำพี้ ชี้แจง

ครั้งที่สองได้มีการว่าจ้างให้เอกชนสำรวจและออกแบบด้วยงบประมาณ 300,000 บาท “เสร็จแล้วเราก็ส่งแบบไปให้มูลนิธิฯ และวิศวกรของมูลนิธิดู แต่ก็มีความไม่แน่ใจอีก จึงให้อาจารย์และนักศึกษาจากวิทยาลัยเทคนิคขอนแก่นสำรวจเพิ่มเติม โดยที่มูลนิธิฯ เป็นผู้จ้างด้วยงบประมาณ 150,000 บาท จากนั้นเราก็นำเสนอผู้ว่าฯ และหน่วยงานต่างๆ พิจารณาอีกครั้ง ซึ่งทุกฝ่ายเห็นชอบ เพียงแต่ทางชลประทานได้ให้ข้อเสนอแนะว่าควรเพิ่มขนาดของหม้อแปลงไฟฟ้าให้มีกำลังวัตต์มากกว่ากำลังของมอเตอร์ 20%”

จากนั้นในเดือนธันวาคม 2550 ได้มีการจัดประกวดราคา และเริ่มการก่อสร้างในเดือนเมษายน 2551 แล้วเสร็จในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน

คืนความชุ่มชื้นสู่ผืนดินที่แตกระแหง

ทันทีที่การก่อสร้างแล้วเสร็จ อบต. นาสะอาดเริ่มทดลองจ่ายน้ำให้เกษตรกรจำนวน 25 ครอบครัวในพื้นที่ทั้งหมด 56 ไร่ โดยเป็นครอบครัวเด็กที่อยู่ในความอุปการะของโครงการฯ สร้างคอมจำนวน 15 ครอบครัว แต่น้ำไหลสู่พื้นที่การเกษตรเบาเพราะเกิดการสูญเสียแรงดันน้ำในท่อ อบต. จึงแก้ปัญหาด้วยการแบ่งผู้ใช้น้ำ 25 รายออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มที่ 1 พื้นที่ 21 ไร่ ใช้น้ำได้ตั้งแต่ 7.00 น. ของวันจันทร์และจนถึง 7.00 น. ของวันพุธ
กลุ่มที่ 2 พื้นที่ 17 ไร่ ใช้น้ำได้ตั้งแต่ 7.00 น. ของวันพุธและจนถึง 7.00 น. ของวันพฤหัส
กลุ่มที่ 3 พื้นที่ 5 ไร่ ใช้น้ำได้ในวันศุกร์
กลุ่มที่ 4 พื้นที่ 13 ไร่ ใช้น้ำได้ตั้งแต่ 7.00 น. ของวันเสาร์และจนถึง 7.00 น. ของวันจันทร์

“แต่ก็ยังมีปัญหาน้ำไม่ค่อยเพียงพอ เมื่ออาทิตย์นี้ทาง อบต. ก็ได้แก้ไขโดยการเพิ่มท่อจ่ายน้ำอีก 1 เส้น ระยะทาง 240 เมตร เมื่อเช้าลองเปิดดู ปรากฏว่าแก้ไขปัญหาได้ระดับหนึ่ง น้ำไหลแรงขึ้น คิดว่าน่าจะเพียงพอสำหรับพื้นที่ 56 ไร่” นายน้ำพี้ กล่าว

เพื่อให้โครงการนี้สามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่องอบต. จึงจัดเก็บค่าใช้น้ำจากเกษตรกร 100 บาทต่อไร่ต่อปี และ 50 บาทต่อปีเป็นค่าบำรุงระบบ

ฟื้นรอยยิ้มให้เกษตรกร

นายบุญ ฝ้ายขาว อายุ 63 ปี ปู่ของเด็กชายอภิสิทธิ์ คำภู นักเรียนชั้น ป. 4 เด็กในความอุปการะของโครงการฯ สร้างคอม เป็นหนึ่งในเกษตรกร 25 รายที่ได้รับน้ำจากโครงการท่อส่งน้ำเพื่อการเกษตรในช่วงของการทดลองระยะแรกนี้ ซึ่งแต่ไหนแต่ไรมาที่นาของนายบุญ 26 ไร่ที่บ้านนาสะอาดถูกปล่อยให้อยู่ในสภาพแตกระแหงทุกฤดูแล้ง จนเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2551 ชายสูงอายุคนนี้ตัดสินใจปลูกข้าวเหนียว 4 ไร่ บางส่วนปลูกแตงกวา ถั่วฝักยาว และฟักทอง

“แต่ก่อนปล่อยให้แห้ง ไม่มีสีเขียวแบบนี้หรอก นี่เป็นครั้งแรกที่ทำนาปรัง ทดลองทำแค่ 4 ไร่ ถ้าทำจริงจะทำเป็น 10 ไร่ ปีหน้าจะทำทั้งหมด ปลูกพริก ปลูกมะละกอ มะนาวด้วย” นายบุญ พูดอย่างอารมณ์ดีพลางชี้ให้ดูแปลงนาที่เขียวขจีแล้วพูดต่อว่า “อาทิตย์ก่อนขายแตงไปได้ 2,400 มีอีกแปลงหนึ่งคิดว่าได้พันกว่าแน่นอน ดีใจมาก มีงานทำ แต่ก่อนแล้งแบบนี้ไม่ได้ทำอะไรหรอก”

ขณะเดียวกันนางคมคาย ศิริกัลยา อายุ 49 ปี สมาชิก อบต.นาสะอาด ซึ่งมีที่นา 15 ไร่ เดินเข้ามาร่วมวงสนทนาด้วย เธอพูดด้วยรอยยิ้มกว้างว่า “น้ำเป็นปัจจัยหลักของคนทั้งประเทศทั้งโลก ขาดน้ำก็คือขาดทุกอย่าง ปีนี้เราลองผิดลองถูกอยู่ ยังปลูกไม่เต็ม ปีหน้าจะเขียวชอุ่มหมด เพราะเรารู้แล้วว่าจะต้องทำยังไง”

อย่างไรก็ตามขณะนี้ทาง อบต.นาสะอาดกำลังดำเนินการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการสูญเสียแรงดันในท่อส่งน้ำเพื่อให้ระบบทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถส่งน้ำไปยังพื้นที่การเกษตรเป้าหมายในระยะแรกที่วางไว้คือ 324 ครอบครัว ในพื้นที่ 1,000 ไร่ได้ “เราคิดจะสร้างแท็งก์น้ำยกสูงขึ้นไป 25 เมตรตรงบริเวณอ่างน้ำพานแล้วปล่อยน้ำจากแท็งก์ไปสู่บ่อพัก เพราะเราศึกษาพบว่าถ้าสูบน้ำจากอ่างน้ำพานตรงเข้าสู่บ่อพัก ปริมาณน้ำจากที่เราสูบ 1,050 ลูกบาศก์เซนติเมตรเมื่อไปถึงบ่อพักจะเหลือน้ำแค่ 500 ลูกบาศก์เซนติเมตร มันเกิดการสูญเสียอย่างมากในท่อส่งน้ำ”

และในอนาคตอันใกล้ อบต.นาสะอาดจะขยายพื้นที่รับน้ำออกไปอีกเป็นระยะที่สอง ซึ่งจะมีครอบครัวเกษตรกรได้ประโยชน์จำนวน 219 ครอบครัว เมื่อโครงการเสร็จสมบูรณ์ทั้ง 2 ระยะจะมีเกษตรกรได้ใช้น้ำจากโครงการท่อส่งน้ำเพื่อการเกษตรทั้งสิ้น 543 ครอบครัว คิดเป็นพื้นที่ทั้งหมด 2,000 ไร่ และในจำนวนนี้จะเป็นครอบครัวเด็กที่อยู่ในความอุปการะของโครงการฯ สร้างคอม จำนวน 234 ครอบครัว

“ผมคิดว่าครอบครัวที่ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้น่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นปีละ 5,000 บาท” นายน้ำพี้ กล่าว

“และถ้ามูลนิธิฯ ไม่ได้เข้ามาดำเนินโครงการพัฒนาชุมชนใน อ.สร้างคอม โครงการท่อส่งน้ำนี้คงไม่มี”

โดย ไพวรรณ เบญจกุล
ที่มาWorld Vision